Tuesday, September 9, 2014

ประสบการณ์การสอบ TOEFL iBT

อารัมภบท

สวัสดีครับ วันนี้นึกคึกขึ้นมาอยากเขียนประสบการณ์การสอบ TOEFL iBT เก็บไว้สักหน่อย เพราะก็เป็นอะไรที่โหดจริง ๆ แถมเป็นการสอบที่ผมใช้เวลาเตรียมตัวสอบมากที่สุดในชีวิตด้วยนะ - -*

จริง ๆ ตอนแรกผมมีความตั้งใจว่าอยากไปเรียนต่อที่อเมริกาครับ แต่ก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะหาทุนจากไหนอะไรไป เลยคิดว่าเออ ยังไงก็คงต้องสอบ TOEFL ไว้แหละ ก็เลยไปลงคอร์สเรียนคอร์สราคาหลายบาทไว้ เพราะลำพังภาษาอังกฤษกาก ๆ ของตัวเอง คิดว่าไม่น่ารอดครับ

หลังจากเรียนไปได้สักครึ่งคอร์สก็ค้นพบว่าตัวเองสอบติดมหาลัยที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมทุนรัฐบาลเค้า (ตอนนั้นใช้คะแนน TOEIC ยื่นไป) ก็เลย อ้าว ไม่สอบแล้วดีมั้ย คิดไปคิดมา แต่ก็เสียตังไปแล้ว ก็เลย เออ เอาวะ สอบ ๆ ไปเถอะ จะได้รู้คะแนนตัวเองด้วย คิดซะว่าเป็นการเตรียมภาษาอังกฤษก่อนไปเรียนต่อละกัน เพราะไปญี่ปุ่นก็เรียนอินเตอร์อยู่ดี อีกอย่างคืออยากมีคะแนนไว้คุยกับชาวบ้านตอนไปเรียนต่อด้วย เพราะไปเรียนป.โททั้ง ๆ ที่ไม่มีคะแนน TOEFL/IELTS เลยมันรู้สึกแปลก ๆ งะ (อันนี้วิตกจริตไปเอง)

การเตรียมตัว

จากนั้นก็เลยเริ่มลุยเต็มที่ครับ โดยที่ผมเรียนคอร์ส TOEFL อยู่ที่นึงแล้ว แล้วก็ไปซื้อหนังสือที่เค้าฮิต ๆ กันมาอ่านเพิ่ม (ซึ่งรู้สึกว่ามันยากกว่าของจริงมาก และไม่ค่อยช่วยอะไรเท่าไหร่)

ใช้เวลาหลังเลิกงาน และเสาร์-อาทิตย์ (ตอนนั้นทำงานประจำอยู่ด้วยครับ) ในการเตรียมตัว ซึ่งก็เหนื่อยจริง ๆ ครับ เลิกงานก็ต้องรีบ ๆ ไปเรียน เสาร์อาทิตย์ก็ต้องแหกขี้ตาตื่นไปเรียนตอนเช้า ตอนบ่ายเรียนภาษาญี่ปุ่นต่ออีก คือมันส์ระเบิดครับ ชีวิตช่วงนั้น

ออกนอกเรื่องไปไกล... กลับมาประเด็นของเรานะครับ...

คือวันนึงผมก็เสิร์ชหากระทู้อ่านไปเรื่อย แล้วก็ไปเจอกระทู้ที่เพื่อนคนนึงได้ตั้งไว้เกี่ยวกับประสบการณ์การสอบ ซึ่งก็คือ >> http://pantip.com/topic/31090643 ซึ่งเพื่อนผมก็ได้แนะนำเว็บไซต์นึง ในการเตรียมตัวสอบครับ ซึ่งก็คือ

NoteFull

ในเว็บนี้เค้าจะมีฟรีวิดีโอให้ดูอยู่เหมือนกันครับ เป็นเทคนิคการทำข้อสอบต่าง ๆ ซึ่งผมดูแล้วก็รู้สึกว่า เออ ใช่เลย ก็เลยเสียกะตังจ่ายค่าคอร์สให้เค้าไปครับ

จริง ๆ เสต็บการเตรียมตัวสอบ TOEFL นี่ จากที่ได้คุยกับหลาย ๆ คนจะวนเวียนอยู่แค่นี้ครับ

"โอ๊ย แม่งยากว่ะ" => "มา ๆ เริ่มได้ละ => "โอ๊ย อยากสอบแล้วโว้ยยย (อึดอัด)" => "เดี๋ยว ๆ ขอเวลาอีกนิด TT" => "โอ๊ย อยากสอบแล้วโว้ยยย (อึดอัด)" => "เดี๋ยว ๆ ขอเวลาอีกนิด TT" (แล้วก็วนกลับไปใหม่)

แต่ด้วยความที่เวลาบีบบังคับ (ใกล้จะบินแล้ว) ก็เลยลงสมัครสอบไปครับ TT ตอนแรกเซ็ง เพราะยังไม่พร้อม แต่พอสอบไปแล้วก็รู้สึกว่า เออ จริง ๆ มันเตรียมตัวไปได้เรื่อย ๆ อะ ไม่มีวันพร้อมหรอกถ้าเราไม่กำหนดเวลาให้ตัวเอง

สอบจริง ๆ แล้วนะ

วันสอบจริงผมเลือกศูนย์สอบ OBAC ที่ลาดกระบังครับ (จริง ๆ อยากได้ของม.เกษมบัณฑิตที่เค้าว่าดีนักหนา แต่เผอิญเต็มไปแล้วครับ เนื่องจากสมัครช้า) เอาจริง ๆ คิดว่าศูนย์สอบไม่ค่อยโอเคครับ แต่พอไปถึงแล้วก็โอเคเลยนะ เจ้าหน้าที่น่ารัก ใจดี แต่อาจจะมีดุบ้าง บางคน บางอย่างอาจจะไม่ค่อยเป็นระบบบ้างครับ เช่นมีการเรียกคนนู้นมาทำอันนี้ให้คนนี้ไปทำอันนั้น ต่อคิวกัน งง ๆ บ้าง แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักของเราครับ

ลักษณะห้องสอบก็เป็นห้องแอร์เย็น ๆ ครับ (แนะนำให้ใส่เสื้อหนาว กางเกงขายาว ถุงเท้า + รองเท้าผ้าใบครับ จะได้ไม่หนาวเกิน) แต่ละที่นั่งจะมีคอกกั้น กันเสียงได้ระดับนึง ตอน Speaking ได้ยินเสียงคนอื่นบ้าง แต่โดยรวมไม่ได้มีผลกับการสอบของผมนะ

จะมีตอน Test ไมโครโฟนตอนแรกครับ ที่ผมอาจจะตื่นเต้น เลยกระซิบใส่มัน มันเลยบอกว่าไมค์ใช้ไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องเดินมา test ให้ ตอนนั้นก็คิดในใจว่า "เอ๊ะ แล้วตอนสอบกุพูดไปเค้าจะได้ยินมั้ยเนี่ย" แต่ตอนก่อนสอบ Speaking จะมี ให้ทดสอบอีกรอบนึงครับ หายห่วงได้

ข้อสอบ

Reading : โดยรวมผมว่ามันยากกว่าอีพวกข้อสอบที่ฝึก ๆ ทำนะ เพราะผมลองทำเล่ม Official Guide ของ ETS เองก็รู้สึกว่ามันง่ายกว่านี้ และผิดไม่เกิน 2-3 ข้ออะครับ แต่ของจริงรู้สึกจะยากกว่า

Listening : นี่ก็รู้สึกว่ามันยากกว่าเหมือนกัน (จริง ๆ ตัวเองกากเอง) เพราะอย่างตอนไปลงเรียน เค้าให้ลองทำโจทย์ ก็ตอบถูกเกือบหมดนะครับ เลยไม่ได้ใส่ใจกับพาร์ทนี้เท่าไหร่ ตอนเตรียมตัว TT

Speaking : อันนี้เป็น part เดียวที่รู้สึกว่าง่ายกว่าตอนซ้อมมาก คือตอนหาโจทย์ทำนี่แบบ โห เมิงจะหลอกกุไปไหน แต่ในข้อสอบจริงนี่คือ ตรง ๆ เลย ไม่ได้ยากขนาดนั้นนะ

Writing : อันนี้ผมว่าพอ ๆ กับตอนฝึกทำครับ ไม่ได้หลบกันมาก คือออกแนวตรง ๆ อย่างงั้นแหละ

ผลคะแนน

นี่นั่งรีเฟรชอีเมลล์ ล๊อกอินเข้าเว็บมันทุกวันจนเพื่อนด่าว่าโรคจิต คือมันจะออกหลังจากนั้น 10 วัน พอดีน่ะครับ (ของผมออกตอนตี 3.30) เข้าไปก่อนหน้านั้นก็ไม่ช่วยอะไรเพราะมันจะมีเมลล์มาแจ้ง (คือรู้นะ แต่ก็เข้าอยู่ดี ก็มันอยากรู้นี่หว่าาาา TT)

และผลคะแนนของผมก็คือออออ :
Reading : 24
Listening : 25
Speaking : 26
Writing : 27
Total : 102 ครับผม (คะแนนเรียงสวยมาก)

เอาจริง ๆ คือดีใจมากที่ได้เกิน 100 เพราะใฝ่ฝันมากว่าจะได้เกิน 100 (เห็นคนเก่ง ๆ เค้า 100+ กันหมดเบย TT) แต่ถ้าสังเกตก็จะเห็นว่า Reading + Listening ไม่เยอะมากครับ อันนี้ไม่รู้จะแก้ตัวยังไง ผมคงกากเอง 555 แต่ Speaking กับ Writing นี่เกินความคาดหมายสุด ๆ ครับ เพราะคิดว่ายังไงก็ไม่เกิน 20 แน่ ๆ (ยกเครดิตทั้งหมดให้ NoteFull จริง ๆ)

คำแนะนำ

เรื่องที่เรียนหรือหนังสืออะไรขอไม่โพสต์ละกันนะครับมีคนโพสต์เยอะแล้ว ขอบอกอะไรที่ยังไม่ค่อยเจอดีกว่า

1. "มั่นใจ" โดยเฉพาะตอน Speaking ครับ พูดให้มั่นใจ เสียง ดัง ๆ ไว้ก่อน ผิดชั่งแม่ง เนียน ๆ ไป ไม่ต้องกังวลอะไร

2. ไม่จำเป็นต้อง "ไฮโซ" คือตอนแรกผมก็กังวลว่าเวลาเขียน สำบัดสำนวน ต้องดี ใช้ศัพท์เวอร์ ๆ แบบให้เพื่อนอ่านไม่รู้เรื่อง ตอนพูดต้องใช้ศัพท์อลังการ คนฟังร้อง "เหยดด" ไรเงี่ย แต่เท่าที่ผมเรียนมา เค้าจะบอกว่า สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหมือนแค่ "ของประดับ" ให้มันดูดีขึ้นอะครับ คือมีก็ดี ไม่มีก็ยังสามารถได้คะแนนเต็มได้อยู่ ไปเน้นหลักที่ content เราเขียนให้มันครบและถูกต้อง จะดีกว่า (แต่อันนี้แล้วแต่คนนะครับ เพราะตัวผมเองไม่ได้ได้คะแนนเต็ม จึงมิสามารถยืนยันได้ด้วยตัวเองครับ)

3. เวลาคนให้คะแนน เค้าจะถือว่างานเราเป็น "First draft" คือสะกดผิดบ้างนิดหน่อย หรือแกรมมาร์ผิดบ้างเล็กน้อย ไม่หักคะแนนครับ เพราะเราไม่มีเวลามาทวนหลายรอบอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลมาก (แต่ผิดเยอะเกินก็โดนหักอยู่ดีนะ) อย่างที่บอก ไปเน้น content ดีกว่า เขียนให้ครบถ้วนถูกต้อง แกรมมาร์ไม่ต้องอลังการ เขียนง่าย ๆ ไป แต่ก็ไม่ใช่ง่ายเกินไป คืออันไหนที่มันควรจะเชื่อมประโยคยังไง ก็ควรทำไปหง่ะครับ ให้มันอ่านแล้วเข้าใจง่ายที่สุดจะดีกว่านะ

4. "อย่าท้อ" ครับ เพราะตัวผมเองจริง ๆ ตอนมหาลัยนี่ภาษาอังกฤษกากมาก คือ จะถามว่า "กินข้าวรึยัง" ยังไม่สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้เลย ต้องไปถามเพื่อนว่ามันพูดยังไง ตอนไปลงเรียนก็ยังใช้ present tense กับเรื่องเมื่อวาน ไม่รู้ว่า Adjective, Adverb อะไรมันต่างกันยังไงเลย แต่สุดท้ายก็พยายามมาเรื่อย ๆ จนได้โทเฟลเกินร้อย(มานิดนึง) ได้ครับ


ส่งท้าย

อย่างที่เกริ่น ๆ ไปก่อนหน้านี้ครับ ขอยกเครดิตคะแนนทั้งหมดให้กับเว็บ NoteFull เลยครับ เพราะผมได้แนวทางการทำข้อสอบจากที่นี่หมดเลย พวกข้อสอบข้อนี้ลักษณะยังไง ถามยังไง ต้องตอบยังไง pattern เค้าก็เตรียมให้หมด (ตอนแรกก็คิดว่ามันขี้โกงนะ แต่จริง ๆ มันคือวิธีการของ Academic writing ไรพวกเนี่ยอะครับ ซึ่งผมก็ไม่เคยเรียนต่างประเทศหรืออินเตอร์อะไร ไม่มีความรู้ตรงนี้)

คิดว่าเว็บไซต์นี้ น่าจะเป็นตัวช่วยที่ดีที่สุดในโลกนี้แล้วครับ เคยไปลงเรียนคอร์สละหลายตัง ซื้อหนังสือเล่มละแพง ๆ มาอ่าน แทบไม่ช่วยอะไรเลย สุดท้ายได้จากเว็บนี้หมด

ตอนแรกซื้อหนังสือมาลองทำโจทย์นี่คือทำไม่ได้เลยนะ แบบ พูดได้ 2-3 ประโยค เขียนได้ 2-3 บรรทัด จบแล้ว เพราะไม่รู้ต้องทำไงต่อ แต่ได้เว็บนี้ช่วย ทำให้ได้คะแนนอย่างที่ทุกคนเห็นได้ >//<

ถ้ายอมรับจริง ๆ คือความสามารถผมนี่ไม่ได้มีไรเลย ได้ 100+ เพราะเว็บนี้จริง ๆ

ใครสนใจก็ลองดูได้ครับ

(เพราะเราเข้าใจว่าการเตรียมตัวสอบโทเฟลมันทรมานขนาดไหน 555+)

ปล. ถ้าใครสนใจเข้าไปดูและสนใจสั่งซื้อ รบกวนคลิกลิงก์ด้านล่างนี้หน่อยนะครับ (ผมได้ค่าขนมจากการแนะนำเล็กน้อย) (แต่เอาจริง ๆ ถึงไม่ได้ก็อยากแนะนำให้อยู่ดีนั่นแหละ (หล่อมะ) ) (แต่ถ้าใครซีเรียสยังไง เข้าเวบไซต์เค้าโดยตรงได้เลยครับ เสิร์ชผ่าน google ได้เลย สบายใจ หรือลองดูวิดีโอใน Youtube ดูก่อนก็ได้ครับ จุดประสงค์หลักผมคืออยากแบ่งปันอยู่แล้ว ^^)

>>>>>> NoteFull <<<<<<

สุดท้ายนี้ ก็ ขอให้โชคดี ประสบความสำเร็จในการเตรียมตัวสอบทุกคน สู้ ๆ ครับ ^^

Monday, August 25, 2014

หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (4)

หลังจากสอบสัมภาษณ์เสร็จแล้ว เราก็รอกันไปครับ อาจจะรอนานหน่อย ก็ตื่นเต้นกดดันกันไป ระหว่างนี้ก็นั่ง Refresh Inbox รัว ๆ ว่าจะมีเมลล์เด้งเข้ามาเมื่อไหร่...

แล้ววันดีคืนดี ตอนเราเผลอ ๆ ก็จะมีเมลล์จากอาจารย์ที่ปรึกษาส่งมาแจ้งครับว่า "ติดแล้ว เฮ้ย ! แถมได้ทุนด้วย !" แต่นี่ก็ยังไม่ official ครับ รอไปอีกสักพักก็จะมีอีเมลล์ทางการส่งมาอีกอันนึงให้เรา Confirm ไปว่าหนูจะไปเรียนจริง ๆ นะ (มาถึงขนาดนี้คงจะแคนเซิลอะนะ - -*) (ขอแอบบอกไว้นิดนึงว่าแต่ละคนจะได้อีเมลล์ไม่พร้อมกันครับ ไม่รู้ทำไม อย่างตอนนั้นเพื่อนผมได้อีเมลล์ก่อนผมหลายวัน จนผมคิดว่าไม่ติดแล้ว TT)

หลังจากนั้นก็จะมีเอกสารส่งมาที่บ้านครับ ว่าเราสอบติดแล้ว และได้รับทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นจำได้ว่าโคตรตื่นเต้นเลยครับ คือโทรถามแม่ตลอดว่าเอกสารมาถึงยัง ๆ จนมาถึงบ้าน แม่บอกเอกสารอยู่ตรงนั้นนะ เลยไปหยิบมา แม่ก็ถามว่าเอกสารอะไร (แม่ผมยังไม่รู้ว่าติดแล้ว) เลยนั่งแปลให้แม่ฟังทีละบรรทัด บอกว่านี่เค้ารับเข้าไปเรียนแล้ว ได้ทุนด้วย แม่นี่กอดผมละยิ้มใหญ่เลยครับ ^^ (วันรุ่งขึ้น เพื่อนบ้านและญาติ ๆ ในรัศมี 100 กิโลเมตรก็รู้ข่าวทั้งหมด ฮ่า ๆ) และก็จะมีเอกสารให้เราเซ็นและแสกนส่งกลับไปทางมหาลัยครับ เป็นอันเสร็จขั้นตอน...

ระหว่างนี้ทางมหาลัยเค้าก็จะไปเดินเรื่องเกี่ยวกับทุนการศึกษาให้เราครับ เราก็มีหน้าที่รอไปอย่างเดียว...

หลายเดือนผ่านไป... ก็จะมีอีเมลล์ติดต่อกลับมาอีกครั้ง รวมถึงเอกสารอีกชุดนึงส่งมาที่บ้านครับ เราก็ต้องเซ็นและส่งไปรษณีย์กลับไป รอบนี้ก็จะมีเอกสารทำวีซ่าต่าง ๆ นา ๆ มากมาย

หลังจากนี้มันก็จะมีพวกรายละเอียดยิบย่อย เช่นสมัครตั๋วเครื่องบิน แล้วก็จองหอพัก อะไรพวกนี้ครับ ซึ่งไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นแล้วล่ะ ^^ เอาเป็นว่าผมขอจบบล๊อกโพสต์เรื่องนี้ไว้เท่านี้แล้วกัน ขอให้โชคดีทุกคนนะครับ ^^

_________________________________________

เว็บไซต์ที่แนะนำให้เข้าไปอ่านกัน

http://www.titech.ac.jp/english/graduate_school/international/graduate_program_a/
http://www.jref.com/forum/studying-japan-181/titech-igp-questions-48210/ (อันนี้เป็นอันที่มีประโยชน์มาก ๆ ครับ เพราะมีประสบการณ์ของหลายคนแชร์กันอยู่ในนี้ ผมก็ได้ข้อมูล และเพื่อนหลายคนมาจากที่นี่เลยครับ)
http://www.jref.com/forum/studying-japan-181/ (อันนี้เป็นเว็บบอร์ดของคนต่างชาติที่อยากไปเรียนญี่ปุ่นครับ แนะนำให้เข้าไปลองอ่านดูนะ)

หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (3)

หลังจากส่งเอกสารไปเรียบร้อยแล้วก็ "รอ" และ "ลุ้น" ครับ

Process ที่เกิดขึ้นคือทางมหาลัยเค้าก็จะ Screen Document เรารอบแรกก่อนว่าผ่านมั้ย ซึ่งถ้าผ่าน เราก็จะได้รับการติดต่อจากอาจารย์ที่ปรึกษาเราเพื่อนัดวันสัมภาษณ์ครับ

เริ่มแรกก็จะเป็นการนัดวันเพื่อ Test Internet connection ก่อนครับว่าโอเคมั้ย เพราะจะเป็นการสัมภาษณ์ผ่าน Skype แนะนำให้หาสถานที่ที่เน็ตเร็ว ๆ นิ่ง ๆ ครับ หลังจาก Test เรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้รับอีเมลล์แจ้งวันเวลาสัมภาษณ์จริงครับ ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 20-30 นาที

วันสัมภาษณ์จริงนี่ก็ตื่นเต้นมากครับ เพราะเปิดขึ้นมามีอาจารย์นั่งกันอยู่ 5 คน ! -*- แถมตอนนั้นสัญญาณ เน็ตผมก็ไม่ค่อยดี ทำให้เสียงมันอู้อี้ ๆ ฟังยากเข้าไปใหญ่ (ถึงได้บอกว่าหาที่อินเตอร์เน็ตดี ๆ นิ่ง ๆ นะครับ ฮ่า ๆ) โดยการสัมภาษณ์ของเราก็จะแบ่งเป็น 3 ส่วนครับ (อันนี้อาจารย์จะแจ้งให้ทราบอยู่แล้ว) คือ 1. โปรเจ็คจบตอนป.ตรีของเรา 2. Study plan ที่เราส่งไป เราจะไปทำวิจัยเรื่องอะไร และ 3. คือความรู้พื้นฐานในสาขาของเราครับ

อันแรกโปรเจ็กจบตอนป.ตรีของเรา ก็อธิบายไปตามปกติครับ เตรียมสคริปต์ไว้เลยก็ได้ เพราะเค้าจะไม่อนุญาตให้ใช้ power point หรืออะไรทั้งนั้นครับ ให้ใช้ปากอธิบายอย่างเดียว เสร็จแล้วกรรมการก็จะยิงคำถามรัว ๆ ครับ แต่มันเป็นงานเรา น่าจะโอเค ส่วนนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

อันที่สองคืองานวิจัยที่เราตั้งใจจะไปทำที่นู่น อันนี้ก็เตรียมสคริปต์ไว้ได้เลยครับ แต่อยากให้เตรียมตัวดี ๆ เพราะหลังจากพูดจบ ก็จะโดนปืนกลชุดใหญ่อีกชุดนึงครับ ครั้งนี้จะหนักกว่าอันแรก เพราะเราก็ยังไม่ได้ทำ ตอนผมโดนงี้เงิบไปหลายดอกเหมือนกัน เพราะโดยส่วนตัวผมไม่เคยทำงานวิจัยมาก่อนเลย ตอนนั้นโดนถามว่า Problem Domain ของคุณคืออะไร ในใจก็คิด "ชิบหายละ มันคืออะไรวะ ไม่รู้จัก" สุดท้ายก็แถกันไปสุดฤทธิ์ -*-

อันที่สามคือความรู้พื้นฐานครับ ซึ่งก็พื้นฐานจริง ๆ ไปทบทวนความรู้ของตัวเองมาหน่อยก็จะดี ไม่ยากมากครับ อย่างผมสมัครไปเรียน Computer Science ก็จะโดนคำถามพวก Automata คืออะไร, DFA กับ NFA ต่างกันยังไง, Compiler กับ Interpreter ต่างกันยังไง, OS คืออะไร อะไรทำนองนี้แหละครับ คือมันพื้นฐานมาก แต่อาจจะลืมกันไปหมดแล้ว ก็ไปรื้อฟื้นกันหน่อยครับ

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้วก็ "รอ" และ "ลุ้น" อีกเหมือนเดิมครับ แล้วมาดูต่อโพสต์หน้าว่าทำยังไงต่อ เย่ !

>>> หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (4) <<<

หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (2)

มาต่อกันที่การสมัครเข้าโปรแกรมนี้นะครับ

URL : http://www.titech.ac.jp/english/graduate_school/international/graduate_program_a/

ลิ้งค์ด้านบนเป็นเว็บไซต์หลักของโปรแกรมเราครับ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดจะอยู่ในนี้ เข้าไปลองอ่านคร่าว ๆ ดูก่อนได้ครับ

สำหรับกำหนดการคร่าว ๆ โปรแกรมนี้จะเริ่มรับสมัคร ตั้งแต่ช่วงเดือน สิงหาคมไปจนถึงต้นเดือนธันวาคมครับ แต่เนื่องจากเอกสารที่ต้องเตรียมมีค่อนข้างเยอะ เลยอยากให้เผื่อเวลากันเยอะ ๆ ครับ (ผมเตรียมตัวล่วงหน้าเกือบปี -*-)

เมื่อตัดสินใจว่าจะสมัครแน่ ๆ แล้วก็ถึงเวลาที่ต้องทำส่วนที่สำคัญและยากที่สุดของการสมัครในครั้งนี้ครับ คือการ "หา Advisor"

ปกติถ้าเป็นมหาลัยแอบอเมริกาอะไรแถบนั้นเราจะเข้าไปในมหาลัยก่อน แล้วเรื่องอาจารย์ที่ปรึกษาค่อยว่ากัน แต่ที่ญี่ปุ่นจะเป็นลักษณะนี้ครับ คือเราต้องหาอาจารย์ที่ปรึกษาให้ได้ก่อน ถึงจะมีสิทธิสมัครเข้าไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ผมเลยบอกว่ามันสำคัญที่สุดเพราะถ้าไม่มีอาจารย์ตอบรับเรา ก็จะไม่มีสิทธิ์สมัครเรียนครับ

โดยเริ่มแรกแนะนำให้เข้าไปดูตามเว็บไซต์ของคณะ / ภาควิชาที่เราสนใจ ส่วนใหญ่จะมีลิสต์ของอาจารย์และหัวข้อวิจัยไว้ให้ เราก็ไปเลือกอันที่สนใจดูครับ หรือจะดูจาก ลิ้งนี้ก็ได้ครับ (เป็นของปี 2015 นะ)

URL : http://www.titech.ac.jp/english/graduate_school/international/graduate_program_a/pdf/listoffaculties_2015a.pdf

หลังจากที่ได้อาจารย์ที่เราสนใจจะทำงานวิจัยด้วยแล้วก็ให้ส่งอีเมลล์ไปแนะนำตัวและติดต่อดูครับ ว่าเราสนใจจะเข้าเรียนที่นี่ บลา บลา บลา ก็ว่าไป ซึ่งโดยปกติอาจารย์ท่านก็จะขอดูประวัติเราคร่าว ๆ พร้อมกับสิ่งสำคัญอีกอย่างนึงคือ "Study Plan" ครับ ซึ่งเราก็ต้องเขียนเสนอไปว่าเราไปเรียนที่นู่นจะทำงานวิจัยเรื่องอะไร ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนจะประสบปัญหาไม่รู้จะเขียนอะไร เพราะอย่างผมไม่เคยมีประสบการณ์การทำวิจัยมาก่อน ก็เลยเครียดอยู่พักใหญ่ ๆ แล้วก็ใช้วิธีไปหาพวกเปเปอร์ที่เกี่ยวกับสาขาที่เราสนใจมานั่งอ่านดูครับ อ่านเยอะ ๆ จนพอได้ไอเดียแล้วก็ค่อยเริ่มเขียนครับ

สิ่งนึงที่อยากให้เตรียมใจไว้คืออาจารย์ท่านอาจจะ "ตอบ" หรือ "ไม่ตอบ" อีเมลล์เราก็ไม่รู้ครับ เพราะเคยได้ยินมาว่าอาจารย์จะได้รับอีเมลล์กันเยอะมาก ๆ จนบางครั้งก็ไม่ได้เปิดอ่านเลยด้วยซ้ำ อย่างตอนที่ผมส่งอีเมลล์ไปตอนแรกท่านก็ไม่ตอบมาครับ เลยเปลี่ยนส่งไปหาอาจารย์อีกคนนึงแทน ก็ไม่ตอบอีก -*- สุดท้ายเลยได้เพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่นช่วยติดต่อให้ครับ แต่อย่างรุ่นน้องที่รู้จักกันส่งเมลล์ไปหาอาจารย์ที่นู่น วันเดียวเค้าก็ตอบกลับมาเลยนะ อันนี้แล้วแต่ดวงจริง ๆ ครับ

ขออนุญาตวาร์ปไปหลังจากตอนที่ได้รับการตอบรับจากอาจารย์เรียบร้อยแล้วนะครับ (จริง ๆ อาจจะใช้เวลานานหน่อย และควรติดต่อล่วงหน้านาน ๆ นะ) ต่อไปก็ต้องเตรียมเอกสารต่าง ๆ ครับ เยอะแยะมากมาย หลัก ๆ จะมี Study plan, Recommendation จาก อาจารย์ที่ปรึกษาตอนป.ตรี/คณบดี, แล้วก็คะแนนสอบภาษาอังกฤษครับ (TOEIC, TOEFL, IELTS อะไรได้หมดครับ ไม่มีกำหนดคะแนนขั้นต่ำ) แล้วที่เหลือก็เอกสารยิบย่อยครับ ดูได้จากเว็บไซต์ด้านบนนะ

สำหรับตัว Recommendation Letter จากอาจารย์ที่ปรึกษาและคณบดี แนะนำให้รีบจัดการแต่เนิ่น ๆ ครับ เพราะอาจจะใช้เวลานาน

หลังจากรวบรวมเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ก็ส่งไปรษณีย์ไปที่มหาลัยเลยครับ แล้วโพสต์ต่อไปมาดูกันว่าต้องทำยังไงต่อ

>>> หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (3) <<<

หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (1)

วันนี้อยากจะมาเขียนไกด์ไลน์สั้น ๆ สำหรับคนที่สนใจไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Tokyo Institute of Technology (Tokyo Tech, TiTech, Tokodai) พร้อมด้วยทุนรัฐบาลญี่ปุ่นครับ เพราะโดยส่วนตัวตอนนั้นผมก็ได้รับความช่วยเหลือจากรุ่นพี่หลาย ๆ คนช่วยตอบคำถามให้ เลยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์กับทุกคนครับ

ก่อนอื่นขอเล่าคร่าว ๆ ว่าวิธีการที่เราจะได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น หรือที่เราคุ้นหูกันว่า ทุนมงบูโช นั้นมีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ ด้วยกันครับ (เท่าที่ผมรู้นะ)

1. สมัครสอบกับสถานทูต
2. สมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรง (University Recommendation)

กรณีแรก เป็นการไปสอบข้อเขียนแข่งขันกับคนอื่น ๆ ครับ ซึ่งเมื่อผ่านแล้ว เราก็จะเหมือนกับได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นโดยที่สถานทูตเป็นคนรับรองให้ จากนั้นก็ไปสมัครมหาวิทยาลัยต่อไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะต้องไปเป็น Research Student ก่อน 6 เดือน - 2 ปี แล้วค่อยสมัครสอบเข้าปริญญาโทครับ
URL : http://www.th.emb-japan.go.jp/th/jis/study.htm

กรณีที่สอง เป็นการสมัครกับมหาวิทยาลัยที่เราสนใจโดยตรงครับ อย่างที่ผมสมัครจะเป็นการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยและทุนการศึกษาไปด้วยในตัว คือถ้าเราผ่านการคัดเลือกเนี่ย ทางมหาลัยจะยื่นเรื่องทุนการศึกษาให้ทั้งหมดครับ และกรณีผมคือเข้าไปเรียนปริญญาโทเลยครับ (ไม่ต้องเป็น Research Student) อีกอย่างนึงที่สำคัญคือโปรแกรมนี้ไม่ต้องสอบข้อเขียนครับ คือยื่นเอกสารไปแล้วก็สอบสัมภาษณ์อย่างเดียว :D

ซึ่งแน่นอนครับกรณีที่ผมจะมาเล่าให้ฟังเป็นแบบที่ 2 เนื่องจากเคยไปสอบของสถานทูตมาแล้ว ไม่ไหวครับ -*- เพราะต้องมีสอบวิชาพวก Math, Physics, Chem ไรพวกนี้ด้วย ซึ่งลงหม้อไปตั้งแต่จบ ปี 1 แล้ว จะให้ไปทวนมาสอบนี่ก็ไม่ไหวครับ เพราะข้อสอบก็ไม่ได้ง่ายเลย แถมแต่ละคนที่ไปสอบนี่ก็โหด ๆ ทั้งนั้น เลยบายดีกว่า

สำหรับการสมัครผ่านมหาวิทยาลัยโดยตรงเนี่ย ผมมองว่าคนรู้ไม่มากนัก เพราะเค้าไม่ได้ประกาศอะไรใหญ่โต อีกทั้งแต่ละมหาวิทยาลัยก็มีโปรแกรมแตกต่างกันอีกครับ เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปดูว่ามหาลัยที่เราสนใจมีเปิดโปรแกรมแบบนี้รึเปล่า ส่วนตัวผมก็รู้จักโปรแกรมนี้จากเพื่อนที่เรียนอยู่ครับ

เนื่องจากกลัวมันจะยาวเกินไป ขออนุญาตเล่าถึงการสมัครในโพสต์ต่อไปนะครับ ^^

>>> หนทางการเข้าสู่ Tokyo Institute of Technology พร้อมทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (2) <<<

Monday, May 19, 2014

การลาออกครั้งแรก...

สืบเนื่องจากกระผมนั้นพึ่งจิได้ลาออกจากงานประจำงานแรก สิริรวมเวลาทำงานทั้งหมด 1 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานมากนัก แต่ก็นานพอที่จะเก็บเกี่ยวอะไรได้หลาย ๆ อย่างมากมาย จึงอยากจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

แต่ทั้งนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า ข้อความต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ "ตัวผม" เจอนะครับ ผมเชื่อเสมอว่าแต่ละคนได้อะไรจากการทำงานไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะทำงานที่เดียวกันตำแหน่งเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้นก็.. อ่านเอาขำขำละกันนะ :)

สิ่งที่พอจะนึกออกและสรุปได้ก็มีดังนี้ครับ...


ข้อที่หนึ่ง : คนเรา "แตกต่าง" กัน

ถึงแม้ตอนทำงานผมอาจจะไม่ได้ออกไซต์ไปเจอลูกค้า พบคนมากหน้าหลายตาเหมือนคนอื่น ๆ แต่เพียงแค่คนเกือบยี่สิบคนในทีมผม ก็ทำให้ได้รับรู้แล้วจริง ๆ ครับว่าคนเราแตกต่างกันมากมายขนาดไหน

ผมเคยถามรุ่นพี่ในทีมคนนึง ซึ่งเป็นคนที่พึ่งเรียนจบป.โทมาจากมหาลัย top 10 ใน UK ว่าทำไมตอนเรียนป.ตรี ถึงไม่เรียนภาคปกติเหมือนคนอื่นเค้า ทำไมต้องไปเรียนอินเตอร์ด้วย คำตอบที่ได้รับคือ

 "ทำข้อสอบเอ็นไม่ได้"

แต่คำว่าทำข้อสอบเอ็นไม่ได้ของเค้าไม่ได้หมายถึงคิดไม่ออก ไม่มีความรู้ ตอบไม่ได้ อะไรอย่างงั้น คำว่าทำข้อสอบไม่ได้ของเค้าหมายถึง เค้าไม่รู้จักคำว่า "มวล" รู้จักแต่คำว่า "mass" ด้วยความที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ! ถึงแม้เค้าจะบอกว่าในบรรดาเด็กที่เรียนอินเตอร์ด้วยกัน ก็ไม่มีใครรู้จักคำพวกนี้หรอกนะ มันเป็นเรื่องปกติ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า...

ขุ่นพระ ! คนแบบนี้ก็มีด้วย !?

เอาจริง ๆ ผมได้รู้จักคนหลายแบบมาก ๆ นะ
บางคนเป็นเจ้าของสวนยาง ไม่รู้ว่าตัวเองเงินเดือนเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเข้าวันไหน เพราะไม่เคยกดมาใช้ (คนมันรวย ! จบป้ะ ?)
บางคนพูดได้ 5 ภาษา เรียนม.ต้นที่ญี่ปุ่น ม.ปลาย-มหาลัยที่แคนาดา ทำงานอยู่ที่นู่นพักใหญ่ก่อนจะกลับมาที่ไทย
บางคนจบมหาลัยอันดับ 1 ของประเทศ บางคนจบมหาลัยที่พูดชื่อไปก็ไม่มีใครรู้จัก
บางคนต้องกู้เงินเรียน บางคนพ่อแม่มีเงินหลายล้านส่งไปเรียนเมืองนอกเมืองนา
บางคนเรียนจบเคมีมา (แต่มาทำงานสาย Software Development)
บางคนไม่เคยเครียดอะไรเลยในชีวิต บางคนก็จริงจังแม่งทุกอย่างกับชีวิต
บางคนทำงานหาเงินใช้คนเดียว บางคนต้องเลี้ยงเมียและลูกอีกสองคน
บางคนเกิดมาไม่เคยไปต่างประเทศ บางคนไปต่างประเทศทุกควอเตอร์
บางคนขาดกาแฟไม่ได้ แต่บางคนมีความเชื่อว่ากินกาแฟแล้วจะโง่
บางคนหอบงานกลับไปทำที่บ้าน เก็บไปคิดเก็บไปฝัน บางคนกลับบ้านไปไม่สนใจไรแล้วเล่นกับลูกอยู่กับเมียดีกว่า
บางคนมาทำงานเพื่อเงิน บางคนมาทำงานเพื่อเรียนรู้ บางคนมาทำงานเพื่อเข้าสังคม บางคนมาทำงานเพื่อพัฒนา บางคนมาทำงานเพื่ออะไร ตัวเค้าเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

และนี่คือเหตุผลที่เวลามีรุ่นน้องมาถาม ผมจะบอกทุกคนว่า ลองไปทำงานดูเถอะ เพราะผมมองว่าสังคมที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างเหล่านี้มันสวยงาม มันมีอะไรให้ได้เรียนรู้ทุกวัน และมันทำให้ผมได้รู้ว่าการที่เราแตกต่างกัน มันไม่ได้ทำให้ใครดีไปกว่าใคร หรือแย่ไปกว่าใคร ทุกอย่างมันมีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเองหมด ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มันจะทำให้เราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้สนุกขึ้น จริง ๆ นะ :)

----------------------------------------------------------

ข้อที่สอง : ความสมบูรณ์คือความไม่สมบูรณ์

ตอนที่ผมหางานทำนั้น ผมตั้งใจไว้เลยว่าจะเข้ามาทำงานที่บริษัทนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในสายงานผม (ที่ผมพอจะมีปัญญาเข้าได้) ผมมองว่าบริษัทใหญ่จะมีระบบการทำงานต่าง ๆ ที่มันเจ๋ง ที่มันสมบูรณ์แบบ ผมอยากเข้ามาเรียนรู้ว่าการทำซอฟต์แวร์ การทำงานที่มันดี ที่คนมืออาชีพเค้าทำกัน เค้าทำยังไง

แต่ก็อาจจะไม่ได้ตรงกับที่คิดไว้ทั้งหมด เนื่องจากทีมที่ผมได้เข้ามาอยู่นั้น เป็นทีมที่พึ่งจะก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่กี่เดือน (ภายในบริษัทมีทีมย่อย ๆ หลายสิบทีม) ทำให้ Process ต่าง ๆ ที่ผมหวังไว้ว่าจะได้เจอนั้น ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเต็มตัว แต่นั่นก็เป็นข้อดี เพราะผมมีโอกาสได้รับผิดชอบในการสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ผมอยากจะดูขึ้นมาด้วยตัวเอง รู้เหตุผลของทุกอย่างว่า "ทำไม" ถึงต้องทำในสิ่งที่ทำอยู่

หลายครั้งผมปรียบเทียบกับทีมของเพื่อน ๆ คนอื่นที่จบมาจากที่เดียวกัน แล้วก็อิจฉา ว่าทำไม Process การทำงานของเค้ามันดูมีระบบจัง มันดู Complete มันดู Perfect แต่ทำไมของเรายังไม่ค่อยนิ่งอยู่เลยนะ ปรับกันแทบจะรายวัน

จนกระทั่งวันนึงผมมีโอกาสได้ไปเทรนคอร์สเกี่ยวกับ Agile Methodology พี่คนที่เป็นเทรนเนอร์บอกกับคนในห้องว่า "Process มันคือสิ่งที่ต้อง improve ไปเรื่อย ๆ, ถ้าวันไหนคิดว่ามันดีแล้ว และหยุดพัฒนา วันนั้นเท่ากับเราเดินถอยหลังแล้ว" 

ประโยคนี้ทำให้ผมได้คิดว่า ความสมบูรณ์แบบที่ผมพยายามมองหามาตลอดการทำงาน มันคือความไม่สมบูรณ์อย่างทุกวันนี่แหละ ผมอยู่กับมันมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเหยียบที่นี่ ตั้งแต่ทีมยังไม่มีอะไร มันคือการที่เราถามตัวเองทุกวันว่า ทำไมเราต้องทำสิ่งที่ทำอยู่ เราทำให้มันดีกว่านี้ได้มั้ย อันนี้ไม่ทำได้มั้ย และพยายามทำทุกวันให้มันดีขึ้นกว่าเดิม หรือที่เค้าเรียกกันว่า "Continuous Improvement" นั่นแหละ...

----------------------------------------------------------

ข้อที่สาม : การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ

ผมเข้ามาอยู่ในทีมนี้ตั้งแต่ตั้งกันใหม่ ๆ มีกันแค่ไม่กี่คน จนกระทั่งขยายไปถึงหลักหลายสิบคน มีคนเข้ามาใหม่ และมีคนจากไปหลายคน มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าที่ดูแลผมหลายครั้ง เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ทั้งระดับ Management และ Operation นับไม่ถ้วน เปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการทำงานกลับไปกลับมาหลายครั้ง

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องปกติ โลกมันก็หมุนของมันแบบนี้ ตราบใดที่เรารับรู้ เข้าใจ ยอมรับ และรู้ว่าเป้าหมายจริง ๆ ที่เรามานั่งอยู่ตรงนี้คืออะไร เราจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ได้มีอะไรเลย...

----------------------------------------------------------

ข้อที่สี่ : ทำงานมา 2 ปี != มีประสบการณ์ 2 ปี

คำถามนึงที่ตอบยากมากเวลามีน้องมาถามคือ "ทำงานเจออะไรบ้าง ?" เพราะแต่ละคนมันเจอไม่เหมือนกันเลยจริง ๆ ถึงแม้จะทำงานด้านไอทีเหมือนกันก็ตาม มันเหมือนถามว่า "เรียนมหาลัยเป็นยังไงบ้าง" มันก็ตอบไม่ได้นะ ถ้าเราเรียนวิศวะ เราก็เจออย่างนึง เราเรียนหมอ เราก็เจออย่างนึง แม้กระทั่งคนทีเรียนคณะเดียวกันสาขาเดียวกัน มันก็เจออะไรไม่เหมือนกันหรอก

เช่นเดียวกับการทำงานครับ ผมมองว่าแต่ละคนทำงาน มันได้อะไรแตกต่างกันไป แม้กระทั่งจะตำแหน่งเดียวกัน ทีมเดียวกัน นั่งทำงานข้าง ๆ กันก็ตาม การที่เราจะได้อะไรจากการทำงานนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน้าที่หรือความรับผิดชอบของเราแต่อย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการในการตอบสนองต่อโจทย์นั้น ๆ ด้วย บางครั้งโจทย์ที่ได้รับมามันคือโจทย์เดียวกัน แต่วิธีการที่เราเลือกจะจัดการโจทย์นั้นมันแตกต่างกันไป บางคนเลือกที่จะทำให้มันเสร็จ ๆ แล้วไปทำอันใหม่ หรือบางคนอาจจะเลือกที่จะศึกษามัน เรียนรู้มัน เก็บรายละเอียดจากมันให้ได้เยอะที่สุด บางคนเลือกที่จะบ่นงานที่ทำทุกวันที่ทำอยู่ว่ามันน่าเบื่อ ไม่สนุก บางคนเลือกที่จะปรับปรุงและทำให้มันดีขึ้น ซึ่งมันคงไม่มีใครถูกผิด ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรจากการทำงานมากกว่า

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า คนที่ทำงานมา 2 ปี ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะมีประสบการณ์ 2 ปี เค้าอาจจะมีประสบการณ์เทียบเท่ากับคนที่ทำงานมาแล้ว 5 ปี หรืออาจจะแค่คนที่ยังไม่ผ่านโปร ก็เป็นได้...

----------------------------------------------------------

ข้อที่ห้า : โลกนี้ยังมีอย่างอื่นนอกจากงาน

ตอนที่สัมภาษณ์เข้าทำงานนั้น คนที่สัมภาษณ์ผมก็ถามไว้ก่อนเลยว่า "อยู่ดึกได้มั้ย ?" ซึ่งแลดูจะเป็นเหตุการณ์ปกติของคนทำงานสายนี้ ซึ่งผมก็บอกเค้าไว้ก่อนเลยว่า

"ถ้านาน ๆ ที ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าบ่อยก็ไม่ไหว ผมมีแม่ มีครอบครัว ผมต้องไปออกกำลังกาย ผมมีชิวิตด้านอื่น ๆ ด้วยครับ"

เอาจริง ๆ ตอนนั้นก็คิดว่าเค้าจะไม่รับแล้ว 555+ แต่ก็ไม่อยากทำงานที่มันต้องหนักขนาดนั้นจริง ๆ เพราะวางแผนไว้แล้วว่าจะเริ่มเข้าฟิตเนส และลงเรียนภาษาเพิ่ม

พอมาทำงานจริง ๆ มันก็เป็นอย่างที่คิดนะ คืออาจจะมีกลับดึกบ้าง นาน ๆ ที เวลามันด่วนจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่พอหมดเวลาปุ๊บก็เก็บโน้ตบุ๊คลงเก๊ะ ล็อคกุญแจ สะบัดตูดออกจากออฟฟิศโดยไม่คิดถึงเรื่องงานอีก เพราะตอนนั้นมีพี่ในทีมคนนึงบอกไว้ว่า

"วันนึงเรามีเวลา 8 ชั่วโมง ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ไม่ทันก็คือไม่ทัน เป็นหน้าที่ของ management ที่ต้องไปจัดการมา ถ้าเรายังฝืนทำต่อไปเค้าก็จะคิดว่าเรารับได้เรื่อย ๆ สุดท้ายเราจะหนักเอง (แต่เราต้องเต็มที่แล้วจริง ๆ นะ ไม่ใช่เล่นเฟสบุ๊กไปครึ่งวันแล้วบอกไม่ทัน งี้ไม่ไหว)" 

บางคนอาจจะคิดว่า "เอ้า ไปทำงานก็ไปเรียนรู้ดิ แบบนี้มันก็ไม่ได้อะไรดิ" คืออย่างที่บอกแหละ ผมมองว่าถ้าเราเรียนรู้ได้ภายในเวลาทำงานจริง ๆ มันเพียงพอแล้ว ที่เหลือ เอาไปเรียนรู้อย่างอื่นบ้างก็ได้ อย่างที่บอกว่าชีวิตคนเรามันมีหลายด้าน (บางช่วง ผมไปออกกำลังกายตอนเช้า 7.00-8.30 ทำงาน 9.00-18.00 แล้วไปเรียนภาษาอังกฤษต่อ 18.30 - 20.00 วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ แล้วเสาร์เรียนรียนภาษาญี่ปุ่น 8.30 - 12.30 แล้วต่อภาษาอังกฤษ 13.00 - 19.30 อาทิตย์เรียนภาษาอังกฤษ 16.15 - 19.30 ไรงี้ ก็บ้ากันไป สนุกดีครับ)

แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ไปเรียนพิเศษอย่างเดียวหรอกนะครับ บางคนคงเบื่อจะแย่แล้ว แต่อยากให้ไปหาอะไรอย่างอื่นทำ "อะไรก็ได้" ผมเห็นพี่ในบริษัทบางคนก็ไปอ่านหนังสือให้คนตาบอด ไปสอนหนังสือให้เด็กที่เค้าไม่มีโอกาส คือมันอาจจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรเพื่อสังคมก็ได้ แต่ผมว่าออกไปเปิดโลกตัวเอง ทำอะไรใหม่ ๆ เจอคนใหม่ ๆ ไปเที่ยว ไปทำอะไรก็ไปเถอะ โต ๆ กันแล้ว ลองคิดดูนะ :)

อย่างที่บอกว่านี่เป็นประสบการณ์ของผม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลิกงานตรงเวลาขนาดนั้นได้ อันนี้เข้าใจครับ เพื่อนผมหลายคนก็ไม่เคยได้เลิกงานก่อนสองทุ่มเลย ก็ปรับกันไปตามวิถีชีวิตนะ

อยากทิ้งท้ายอีกประโยคนึงที่พี่ในทีมคนนึงเคยบอกไว้ ซึ่งอันนี้แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองยังไงนะครับ :)

"เวลาเอ็มไปสมัครงานที่ใหม่เค้าจะถามว่าทำงานที่เก่ามากี่ปี ไม่ใช่กี่ชั่วโมงนะ" 

Sunday, April 27, 2014

วันที่อาม่าเข้าโรงบาล

เมื่อเช้าตื่นมานั่งเล่นคอมได้สักพัก กำลังงัวเงีย ๆ อยู่ แม่ก็โทรขึ้นมาหาจากชั้นล่างของบ้าน

"เอ็ม ลงมาช่วยอุ้มอาม่าหน่อย อาม่าล้ม แม่อุ้มคนเดียวไม่ไหว"

ผมก็รีบวิ่งลงไปห้องครัวชั่้นล่างด้วยความตกใจสุดขีด เจออาม่านั่งกองอยู่กับพื้นด้วยท่าทีหมดแรง

ผมกับแม่ช่วยกันประคองอาม่าขึ้นมาแล้วพาไปนั่งที่เก้าอี้นอนด้วยความทุลักทุเล ถามไปถามมา อาม่าบอกว่ายืนไม่ได้ เหมือนบ้านมันยุบลงไป ผมเลยเข้าใจเอาเองด้วยความรู้ทางด้านการแพทย์เป็นศูนย์ว่าน่าจะเกิดจากกล้ามเนื้อมันอ่อนแรงอะไรสักอย่างนี่แหละมั้ง

อาม่าบอกว่าเจ็บตรงสะโพกด้านซ้าย ไม่น่าจะเป็นอะไรมาก ก็บอกว่าขอนั่งพักสักพักนึงก่อน

ผมก็รีบวิ่งขึ้นไปหยิบโทรศัพท์บนห้องนอนเพื่อไลน์บอกพี่น้องในครอบครัวที่ออกไปทำธุระข้างนอกกันหมดแล้ว

ทุกคนตอบรับด้วยความตกใจ ใครที่สละงานตรงหน้าอยู่ได้ ก็รีบพุ่งหน้ากลับบ้านมาหาอาม่ากันหมด แล้วเสียงโทรศัพท์แม่ก็ดังไม่ขาดสาย เล่นเอาอาม่างงว่า ไอพวกนี้มันรู้เรื่องกันได้ยังไง ?

ตอนแรกอาม่าจะไม่ยอมไปหาหมอ เพราะกลัวต้องนอนโรงบาล อาม่าไม่ชอบ อีกอย่าง อาทิตย์หน้าจะถึงงานแต่งงานของหลานสาวแล้ว อาม่าไม่อยากพลาด

ทุกคนช่วยกันเกลี้ยกล่อมอยู่สักพักจนอาม่ายอมไป พี่สาวผมเลยจัดแจงโทรแจ้ง ศูนย์นเรนทร 1669 รถพยาบาลให้มารับ รออยู่สักครึ่งชั่วโมง รถพยาบาลก็เปิดหวอลั่น วิ่งมาจอดหน้าบ้าน

ระหว่างที่เจ้าหน้าที่กำลังพยายามพาอาม่าขึ้นรถพยาบาลไป เพื่อนบ้านละแวกนั้นทั้งใกล้ทั้งไกล ก็วิ่งมาที่บ้านด้วยความเป็นห่วง ถามว่าใครเป็นอะไร เป็นมากมั้ย แม่และพี่สาวต้องคอยตอบว่า "อาม่าล้มหลังบ้าน ไม่เป็นไรมาก" กันอยู่นานเลยทีเดียว

-----

พอไปถึงโรงพยาบาล คุณพยาบาลก็จัดแจงเอกสารมาให้เซ็น พร้อมกับแจ้งว่า อาม่า

"กระดูกสะโพกหัก"

คุณพยาบาลบอกให้นอนพักรักษาตัวที่นี่ก่อน เนื่องจากต้องรอคุณหมอกระดูกเข้ามาดูว่าจะรักษายังไง เนื่องจากอาม่าอายุเยอะแล้ว และเป็นโรคความดันเบาหวาน การผ่าตัดอาจจะเสี่ยง

คุณพยาบาลถามว่าจะให้อาม่าอยู่ห้องรวมตามสิทธิ์บัตรทอง หรือว่าจะให้อยู่ห้องพิเศษ ซึ่งต้องเพิ่มเงินคืนละ 2700, 2800, 3200

นั่นเป็นจำนวนเงินที่เยอะพอสมควรสำหรับบ้านผมซึ่งมีฐานะปานกลาง ไม่ได้ร่ำได้รวยอะไร ตอนนั้นก็เลยคุยกันว่า ให้อาม่าอยู่ห้องรวมก่อน แล้วเดี๋ยวยังไงญาติมาครบค่อยว่ากัน

ลักษณะของห้องรวมคือคนไข้อยู่กัน 10 เตียง แต่ละคนก็ป่วยหนักกันทั้งนั้น อากาศค่อนข้างร้อนมาก ไม่มีที่นั่งสำหรับญาติ และจำกัดเวลาในการเยี่ยมต่อวัน

พอญาติ ๆ มากันครบก็คุยกันว่าอยากให้อาม่าไปอยู่ห้องพิเศษ พี่สาวคนโตบอกว่า

"ทนเห็นอาม่าอยู่แบบนี้ไม่ได้จริง ๆ เงินน่ะ เดี๋ยวก็หาใหม่ได้ แต่นี่ช่วงชีวิตสุดท้ายของอาม่าแล้วนะ จะให้อยู่แบบนั้นหรอ"

สรุปก็ได้ย้ายอาม่าไปอยู่ห้องพิเศษ แล้วก็ผลัดเวรกันกลับบ้าน โดยให้น้องสาวคนเล็กนอนเฝ้าอาม่าหนึ่งคืน

ยังไม่รู้ว่าหมอจะรักษายังไง จะต้องนอนโรงพยาบาลอีกนานเท่าไหร่ และหลังจากนี้อาม่าจะกลับมาเดินเป็นปกติได้มั้ย

-----

สิ่งที่ผมรู้สึกในวันนี้...
- โชคดีที่อาม่าไม่เป็นอะไรหนักมากกว่านี้...
- ครอบครัวคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในโลก...
- ชีวิตคนเราไม่แน่นอน คนที่อยู่กับเรามาตลอดชีวิต จะจากเราไปตอนไหนก็ไม่รู้ ตอนที่ยังอยู่ด้วยกัน ต้องรักกันให้มาก ๆ...
- กว่าเราจะเก็บเงินมาได้เท่านี้ มันอาจจะเหนื่อยก็จริง แต่ยังไงเราก็ยังหาใหม่ได้ แต่ชีวิตคนสำคัญของเรา หายไปแล้วหาใหม่ไม่ได้อีกแล้ว...