Monday, May 19, 2014

การลาออกครั้งแรก...

สืบเนื่องจากกระผมนั้นพึ่งจิได้ลาออกจากงานประจำงานแรก สิริรวมเวลาทำงานทั้งหมด 1 ปี 8 เดือน ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานมากนัก แต่ก็นานพอที่จะเก็บเกี่ยวอะไรได้หลาย ๆ อย่างมากมาย จึงอยากจะมาเล่าสู่กันฟังครับ

แต่ทั้งนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า ข้อความต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ "ตัวผม" เจอนะครับ ผมเชื่อเสมอว่าแต่ละคนได้อะไรจากการทำงานไม่เหมือนกัน แม้ว่าจะทำงานที่เดียวกันตำแหน่งเดียวกันก็ตาม เพราะฉะนั้นก็.. อ่านเอาขำขำละกันนะ :)

สิ่งที่พอจะนึกออกและสรุปได้ก็มีดังนี้ครับ...


ข้อที่หนึ่ง : คนเรา "แตกต่าง" กัน

ถึงแม้ตอนทำงานผมอาจจะไม่ได้ออกไซต์ไปเจอลูกค้า พบคนมากหน้าหลายตาเหมือนคนอื่น ๆ แต่เพียงแค่คนเกือบยี่สิบคนในทีมผม ก็ทำให้ได้รับรู้แล้วจริง ๆ ครับว่าคนเราแตกต่างกันมากมายขนาดไหน

ผมเคยถามรุ่นพี่ในทีมคนนึง ซึ่งเป็นคนที่พึ่งเรียนจบป.โทมาจากมหาลัย top 10 ใน UK ว่าทำไมตอนเรียนป.ตรี ถึงไม่เรียนภาคปกติเหมือนคนอื่นเค้า ทำไมต้องไปเรียนอินเตอร์ด้วย คำตอบที่ได้รับคือ

 "ทำข้อสอบเอ็นไม่ได้"

แต่คำว่าทำข้อสอบเอ็นไม่ได้ของเค้าไม่ได้หมายถึงคิดไม่ออก ไม่มีความรู้ ตอบไม่ได้ อะไรอย่างงั้น คำว่าทำข้อสอบไม่ได้ของเค้าหมายถึง เค้าไม่รู้จักคำว่า "มวล" รู้จักแต่คำว่า "mass" ด้วยความที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตั้งแต่เด็ก ! ถึงแม้เค้าจะบอกว่าในบรรดาเด็กที่เรียนอินเตอร์ด้วยกัน ก็ไม่มีใครรู้จักคำพวกนี้หรอกนะ มันเป็นเรื่องปกติ แต่ผมก็ยังรู้สึกว่า...

ขุ่นพระ ! คนแบบนี้ก็มีด้วย !?

เอาจริง ๆ ผมได้รู้จักคนหลายแบบมาก ๆ นะ
บางคนเป็นเจ้าของสวนยาง ไม่รู้ว่าตัวเองเงินเดือนเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าเข้าวันไหน เพราะไม่เคยกดมาใช้ (คนมันรวย ! จบป้ะ ?)
บางคนพูดได้ 5 ภาษา เรียนม.ต้นที่ญี่ปุ่น ม.ปลาย-มหาลัยที่แคนาดา ทำงานอยู่ที่นู่นพักใหญ่ก่อนจะกลับมาที่ไทย
บางคนจบมหาลัยอันดับ 1 ของประเทศ บางคนจบมหาลัยที่พูดชื่อไปก็ไม่มีใครรู้จัก
บางคนต้องกู้เงินเรียน บางคนพ่อแม่มีเงินหลายล้านส่งไปเรียนเมืองนอกเมืองนา
บางคนเรียนจบเคมีมา (แต่มาทำงานสาย Software Development)
บางคนไม่เคยเครียดอะไรเลยในชีวิต บางคนก็จริงจังแม่งทุกอย่างกับชีวิต
บางคนทำงานหาเงินใช้คนเดียว บางคนต้องเลี้ยงเมียและลูกอีกสองคน
บางคนเกิดมาไม่เคยไปต่างประเทศ บางคนไปต่างประเทศทุกควอเตอร์
บางคนขาดกาแฟไม่ได้ แต่บางคนมีความเชื่อว่ากินกาแฟแล้วจะโง่
บางคนหอบงานกลับไปทำที่บ้าน เก็บไปคิดเก็บไปฝัน บางคนกลับบ้านไปไม่สนใจไรแล้วเล่นกับลูกอยู่กับเมียดีกว่า
บางคนมาทำงานเพื่อเงิน บางคนมาทำงานเพื่อเรียนรู้ บางคนมาทำงานเพื่อเข้าสังคม บางคนมาทำงานเพื่อพัฒนา บางคนมาทำงานเพื่ออะไร ตัวเค้าเองก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน

และนี่คือเหตุผลที่เวลามีรุ่นน้องมาถาม ผมจะบอกทุกคนว่า ลองไปทำงานดูเถอะ เพราะผมมองว่าสังคมที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างเหล่านี้มันสวยงาม มันมีอะไรให้ได้เรียนรู้ทุกวัน และมันทำให้ผมได้รู้ว่าการที่เราแตกต่างกัน มันไม่ได้ทำให้ใครดีไปกว่าใคร หรือแย่ไปกว่าใคร ทุกอย่างมันมีทั้งดีและไม่ดีอยู่ในตัวเองหมด ถ้าเราเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มันจะทำให้เราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้สนุกขึ้น จริง ๆ นะ :)

----------------------------------------------------------

ข้อที่สอง : ความสมบูรณ์คือความไม่สมบูรณ์

ตอนที่ผมหางานทำนั้น ผมตั้งใจไว้เลยว่าจะเข้ามาทำงานที่บริษัทนี้ให้ได้ เพราะมันเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในสายงานผม (ที่ผมพอจะมีปัญญาเข้าได้) ผมมองว่าบริษัทใหญ่จะมีระบบการทำงานต่าง ๆ ที่มันเจ๋ง ที่มันสมบูรณ์แบบ ผมอยากเข้ามาเรียนรู้ว่าการทำซอฟต์แวร์ การทำงานที่มันดี ที่คนมืออาชีพเค้าทำกัน เค้าทำยังไง

แต่ก็อาจจะไม่ได้ตรงกับที่คิดไว้ทั้งหมด เนื่องจากทีมที่ผมได้เข้ามาอยู่นั้น เป็นทีมที่พึ่งจะก่อตั้งขึ้นมาได้ไม่กี่เดือน (ภายในบริษัทมีทีมย่อย ๆ หลายสิบทีม) ทำให้ Process ต่าง ๆ ที่ผมหวังไว้ว่าจะได้เจอนั้น ยังไม่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเต็มตัว แต่นั่นก็เป็นข้อดี เพราะผมมีโอกาสได้รับผิดชอบในการสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่ผมอยากจะดูขึ้นมาด้วยตัวเอง รู้เหตุผลของทุกอย่างว่า "ทำไม" ถึงต้องทำในสิ่งที่ทำอยู่

หลายครั้งผมปรียบเทียบกับทีมของเพื่อน ๆ คนอื่นที่จบมาจากที่เดียวกัน แล้วก็อิจฉา ว่าทำไม Process การทำงานของเค้ามันดูมีระบบจัง มันดู Complete มันดู Perfect แต่ทำไมของเรายังไม่ค่อยนิ่งอยู่เลยนะ ปรับกันแทบจะรายวัน

จนกระทั่งวันนึงผมมีโอกาสได้ไปเทรนคอร์สเกี่ยวกับ Agile Methodology พี่คนที่เป็นเทรนเนอร์บอกกับคนในห้องว่า "Process มันคือสิ่งที่ต้อง improve ไปเรื่อย ๆ, ถ้าวันไหนคิดว่ามันดีแล้ว และหยุดพัฒนา วันนั้นเท่ากับเราเดินถอยหลังแล้ว" 

ประโยคนี้ทำให้ผมได้คิดว่า ความสมบูรณ์แบบที่ผมพยายามมองหามาตลอดการทำงาน มันคือความไม่สมบูรณ์อย่างทุกวันนี่แหละ ผมอยู่กับมันมาตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาเหยียบที่นี่ ตั้งแต่ทีมยังไม่มีอะไร มันคือการที่เราถามตัวเองทุกวันว่า ทำไมเราต้องทำสิ่งที่ทำอยู่ เราทำให้มันดีกว่านี้ได้มั้ย อันนี้ไม่ทำได้มั้ย และพยายามทำทุกวันให้มันดีขึ้นกว่าเดิม หรือที่เค้าเรียกกันว่า "Continuous Improvement" นั่นแหละ...

----------------------------------------------------------

ข้อที่สาม : การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติ

ผมเข้ามาอยู่ในทีมนี้ตั้งแต่ตั้งกันใหม่ ๆ มีกันแค่ไม่กี่คน จนกระทั่งขยายไปถึงหลักหลายสิบคน มีคนเข้ามาใหม่ และมีคนจากไปหลายคน มีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าที่ดูแลผมหลายครั้ง เห็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กร ทั้งระดับ Management และ Operation นับไม่ถ้วน เปลี่ยนแปลงหน้าที่ในการทำงานกลับไปกลับมาหลายครั้ง

สิ่งเหล่านี้ทำให้ผมได้รู้ว่า การเปลี่ยนแปลงมันเป็นเรื่องปกติ โลกมันก็หมุนของมันแบบนี้ ตราบใดที่เรารับรู้ เข้าใจ ยอมรับ และรู้ว่าเป้าหมายจริง ๆ ที่เรามานั่งอยู่ตรงนี้คืออะไร เราจะรู้ว่าจริง ๆ แล้ว มันก็ไม่ได้มีอะไรเลย...

----------------------------------------------------------

ข้อที่สี่ : ทำงานมา 2 ปี != มีประสบการณ์ 2 ปี

คำถามนึงที่ตอบยากมากเวลามีน้องมาถามคือ "ทำงานเจออะไรบ้าง ?" เพราะแต่ละคนมันเจอไม่เหมือนกันเลยจริง ๆ ถึงแม้จะทำงานด้านไอทีเหมือนกันก็ตาม มันเหมือนถามว่า "เรียนมหาลัยเป็นยังไงบ้าง" มันก็ตอบไม่ได้นะ ถ้าเราเรียนวิศวะ เราก็เจออย่างนึง เราเรียนหมอ เราก็เจออย่างนึง แม้กระทั่งคนทีเรียนคณะเดียวกันสาขาเดียวกัน มันก็เจออะไรไม่เหมือนกันหรอก

เช่นเดียวกับการทำงานครับ ผมมองว่าแต่ละคนทำงาน มันได้อะไรแตกต่างกันไป แม้กระทั่งจะตำแหน่งเดียวกัน ทีมเดียวกัน นั่งทำงานข้าง ๆ กันก็ตาม การที่เราจะได้อะไรจากการทำงานนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับหน้าที่หรือความรับผิดชอบของเราแต่อย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่กับวิธีการในการตอบสนองต่อโจทย์นั้น ๆ ด้วย บางครั้งโจทย์ที่ได้รับมามันคือโจทย์เดียวกัน แต่วิธีการที่เราเลือกจะจัดการโจทย์นั้นมันแตกต่างกันไป บางคนเลือกที่จะทำให้มันเสร็จ ๆ แล้วไปทำอันใหม่ หรือบางคนอาจจะเลือกที่จะศึกษามัน เรียนรู้มัน เก็บรายละเอียดจากมันให้ได้เยอะที่สุด บางคนเลือกที่จะบ่นงานที่ทำทุกวันที่ทำอยู่ว่ามันน่าเบื่อ ไม่สนุก บางคนเลือกที่จะปรับปรุงและทำให้มันดีขึ้น ซึ่งมันคงไม่มีใครถูกผิด ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการอะไรจากการทำงานมากกว่า

นั่นเป็นเหตุผลที่ผมบอกว่า คนที่ทำงานมา 2 ปี ไม่ได้หมายความว่าเค้าจะมีประสบการณ์ 2 ปี เค้าอาจจะมีประสบการณ์เทียบเท่ากับคนที่ทำงานมาแล้ว 5 ปี หรืออาจจะแค่คนที่ยังไม่ผ่านโปร ก็เป็นได้...

----------------------------------------------------------

ข้อที่ห้า : โลกนี้ยังมีอย่างอื่นนอกจากงาน

ตอนที่สัมภาษณ์เข้าทำงานนั้น คนที่สัมภาษณ์ผมก็ถามไว้ก่อนเลยว่า "อยู่ดึกได้มั้ย ?" ซึ่งแลดูจะเป็นเหตุการณ์ปกติของคนทำงานสายนี้ ซึ่งผมก็บอกเค้าไว้ก่อนเลยว่า

"ถ้านาน ๆ ที ไม่มีปัญหาครับ แต่ถ้าบ่อยก็ไม่ไหว ผมมีแม่ มีครอบครัว ผมต้องไปออกกำลังกาย ผมมีชิวิตด้านอื่น ๆ ด้วยครับ"

เอาจริง ๆ ตอนนั้นก็คิดว่าเค้าจะไม่รับแล้ว 555+ แต่ก็ไม่อยากทำงานที่มันต้องหนักขนาดนั้นจริง ๆ เพราะวางแผนไว้แล้วว่าจะเริ่มเข้าฟิตเนส และลงเรียนภาษาเพิ่ม

พอมาทำงานจริง ๆ มันก็เป็นอย่างที่คิดนะ คืออาจจะมีกลับดึกบ้าง นาน ๆ ที เวลามันด่วนจริง ๆ แต่ส่วนใหญ่พอหมดเวลาปุ๊บก็เก็บโน้ตบุ๊คลงเก๊ะ ล็อคกุญแจ สะบัดตูดออกจากออฟฟิศโดยไม่คิดถึงเรื่องงานอีก เพราะตอนนั้นมีพี่ในทีมคนนึงบอกไว้ว่า

"วันนึงเรามีเวลา 8 ชั่วโมง ถ้าเราทำเต็มที่แล้ว ไม่ทันก็คือไม่ทัน เป็นหน้าที่ของ management ที่ต้องไปจัดการมา ถ้าเรายังฝืนทำต่อไปเค้าก็จะคิดว่าเรารับได้เรื่อย ๆ สุดท้ายเราจะหนักเอง (แต่เราต้องเต็มที่แล้วจริง ๆ นะ ไม่ใช่เล่นเฟสบุ๊กไปครึ่งวันแล้วบอกไม่ทัน งี้ไม่ไหว)" 

บางคนอาจจะคิดว่า "เอ้า ไปทำงานก็ไปเรียนรู้ดิ แบบนี้มันก็ไม่ได้อะไรดิ" คืออย่างที่บอกแหละ ผมมองว่าถ้าเราเรียนรู้ได้ภายในเวลาทำงานจริง ๆ มันเพียงพอแล้ว ที่เหลือ เอาไปเรียนรู้อย่างอื่นบ้างก็ได้ อย่างที่บอกว่าชีวิตคนเรามันมีหลายด้าน (บางช่วง ผมไปออกกำลังกายตอนเช้า 7.00-8.30 ทำงาน 9.00-18.00 แล้วไปเรียนภาษาอังกฤษต่อ 18.30 - 20.00 วัน จันทร์ พุธ ศุกร์ แล้วเสาร์เรียนรียนภาษาญี่ปุ่น 8.30 - 12.30 แล้วต่อภาษาอังกฤษ 13.00 - 19.30 อาทิตย์เรียนภาษาอังกฤษ 16.15 - 19.30 ไรงี้ ก็บ้ากันไป สนุกดีครับ)

แต่ก็ไม่ได้บอกว่าจะให้ไปเรียนพิเศษอย่างเดียวหรอกนะครับ บางคนคงเบื่อจะแย่แล้ว แต่อยากให้ไปหาอะไรอย่างอื่นทำ "อะไรก็ได้" ผมเห็นพี่ในบริษัทบางคนก็ไปอ่านหนังสือให้คนตาบอด ไปสอนหนังสือให้เด็กที่เค้าไม่มีโอกาส คือมันอาจจะเป็นหรือไม่เป็นอะไรเพื่อสังคมก็ได้ แต่ผมว่าออกไปเปิดโลกตัวเอง ทำอะไรใหม่ ๆ เจอคนใหม่ ๆ ไปเที่ยว ไปทำอะไรก็ไปเถอะ โต ๆ กันแล้ว ลองคิดดูนะ :)

อย่างที่บอกว่านี่เป็นประสบการณ์ของผม ไม่ใช่ทุกคนที่จะเลิกงานตรงเวลาขนาดนั้นได้ อันนี้เข้าใจครับ เพื่อนผมหลายคนก็ไม่เคยได้เลิกงานก่อนสองทุ่มเลย ก็ปรับกันไปตามวิถีชีวิตนะ

อยากทิ้งท้ายอีกประโยคนึงที่พี่ในทีมคนนึงเคยบอกไว้ ซึ่งอันนี้แล้วแต่ว่าแต่ละคนจะมีมุมมองยังไงนะครับ :)

"เวลาเอ็มไปสมัครงานที่ใหม่เค้าจะถามว่าทำงานที่เก่ามากี่ปี ไม่ใช่กี่ชั่วโมงนะ"